วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

Banking News Daily Update สรุปความเคลื่อนไหวแวดวงการเงินประจำวัน 7 Feb 2017



ภาพรวม
  • กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า นโยบายการค้าและเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งผลกระทบทางตรงต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะสั้นมากนัก โดยยังคงประมาณการส่งออกไทยปีนี้ ขยายตัว 2.5-3.5% เนื่องจากไทยไม่ได้เป็นประเทศเป้าหมายที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าในลำดับต้นๆ รวมทั้งไทยยังมีโอกาสที่จะทดแทนการส่งออกของจีน และเม็กซิโก ในกรณีที่สหรัฐฯ ดำเนินมาตรการกีดกันการค้า โดยเฉพาะในสินค้าอุปโภคบริโภค ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องรับโทรทัศน์ และ เครื่องแต่งกาย อย่างไรก็ดี หากสหรัฐฯ มีการใช้มาตรการภาษีเป็นรายสินค้า และบังคับใช้เป็นการทั่วไป ก็อาจจะกระทบสินค้าออกของไทยที่มีการพึ่งพาและมีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ สูง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เครื่องจักรการพิมพ์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ และกุ้งสดแช่แข็ง อย่างไรก็ดี เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากทิศทางของดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้น นั้น อาจจะไม่ช่วยกระตุ้นการส่งออกของไทยมากนัก เนื่องจากมีเงินสกุลอื่นที่อ่อนค่ามากกว่า
  • รมว. คลังแถลงข่าวชี้แจงเรื่องระดับเงินคงคลังของรัฐบาล ณ เดือน ธ.ค. 2559 ที่ 74,907 ล้านบาท ซึ่งดูเหมือนจะอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำว่า เป็นผลมาจากกระทรวงการคลังสามารถบริหารจัดการเงินคงคลังให้อยู่ในระดับเหมาะสมกับการใช้จ่ายของรัฐบาล เพื่อลดต้นทุนทางการเงินของรัฐบาล โดยเงินคงคลังในระดับ 5 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท น่าจะเป็นระดับที่เหมาะสมในการมีสภาพคล่องอยู่ในมือ ขณะที่ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีปัญหาในแง่ของสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากในงบประมาณปี 2560 ที่เป็นงบขาดดุล โดยตั้งกู้ไว้ 3.9 แสนล้านบาท ปัจจุบันมีการกู้ไปราว 1 แสนล้านบาท ยังเหลืออีกเกือบ 3 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลยังมี ช่องในการกู้มาใช้จ่าย บวกกับกระทรวงการคลังสามารถกู้เงินระยะสั้นในรูปตั๋วเงินคลังได้อีก 8 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาใช้จ่ายได้
  • กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาฯ เตรียมเสนอ ครม. ขยายมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมตรวจลงตรา (วีซ่า) ผ่านช่องตรวจคนเข้าเมืองให้กับนักท่องเที่ยวจาก 21 ประเทศ อาทิ จีน อินเดีย ต่อไปอีก 6 เดือนจากเดิมที่จะครบกำหนดในวันที่ 28 ก.พ. นี้

เศรษฐกิจโลก
  • ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า อีซีบีจะเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) หรือขยายเวลาออกไป หากแนวโน้มเงินเฟ้อของยูโรโซนยังคงซบเซา ซึ่งเท่ากับเป็นการปฏิเสธเสียงเรียกร้องให้อีซีบีปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลง นอกจากนี้ ยังระบุว่า อีซีบีจะไม่คุมเข้มนโยบายเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเพียงชั่วคราว และมีสาเหตุจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของยูโรโซนเพิ่งเริ่มขึ้น แต่ตลาดแรงงานยังคงซบเซา ขณะที่การขยายตัวของประสิทธิภาพในการผลิตมีความอ่อนแอ และมีความเสี่ยงในช่วงขาลง ทำให้มีความจำเป็นที่อีซีบีจะต้องช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • สภาการเหมืองแร่ของออสเตรเลีย เรียกร้องให้รัฐบาลต่อต้านการกีดกันทางการค้า และสนับสนุนการค้าเสรีโดยเสนอให้รัฐบาลลดภาษี ควบคุมบรรดานักเคลื่อนไหว และปฏิรูปความสัมพันธ์ในอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับอินเดียและอินโดนีเซียที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่ของประเทศได้รับประโยชน์จากศักยภาพที่มีอยู่มากมายในตลาดเหล่านั้น
  • จีนตั้งเป้านำเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่ผลิตเองออกใช้งานครั้งแรกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเครื่องบินลำตัวแคบรุ่น “ซี919” มีการติดตั้งระบบต่าง ๆ บนเครื่องบินเกือบจะเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ เครื่องบินดังกล่าวผลิตโดยบริษัทคอมเมอร์เชียล แอร์คราฟท์ คอร์ป ออฟ ไชน่า หรือ “โคแม็ค” (COMAC) ของรัฐบาล ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะแข่งขันกับเจ้าตลาดเดิมทั้งแอร์บัส และโบอิ้ง  

Banking Business
  • ไอทีเอ็มเอ็กซ์เตรียมออกบัตรเดบิต “พร้อมการ์ด" โดยทุกธนาคารสามารถออกบัตรนี้ได้ ซึ่งเป็นตามนโยบายของธปท. ที่ต้องการให้แต่ละแบงก์มีบัตรเดบิตที่ออกภายใต้แบรนด์ในประเทศ นายอารักษ์ สุธีวงศ์ รอง ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะคณะกรรมการ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ จำกัด ที่ทำการพัฒนาและดำเนินการระบบ ITMX (Interbank Transaction Management and Exchange) เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ด ITMX ได้หารือเพื่อเตรียมความพร้อมการออกบัตรเดบิตที่ออกใช้ภายใต้แบนด์ในประเทศ (Local Debit Card Scheme) โดยใช้ชื่อว่าบัตรเดบิต "พร้อมการ์ด" ซึ่ง ITMX จะเป็น ผู้ออกบัตรดังกล่าว โดยคาดว่า จะเริ่มออกบัตรเดบิต พร้อมการ์ดได้ทันทีในเดือนเม.ย.นี้ เมื่อมีการติดตั้ง เครื่องรับรูดบัตร หรือ EDC (Electronic Data Capture) ครบทั่วประเทศ ดังนั้น เมื่อแบงก์ที่มีความพร้อมวางเครื่อง EDC เชื่อมต่อระบบพร้อมเพย์แล้ว น่าจะได้เห็นแต่ละแบงก์เสนอ โปรแกรมดีๆ สำหรับบัตรเดบิตพร้อมการ์ดด้วย นอกจากนี้บัตรเดบิตพร้อมการ์ด ยังสามารถนำไปใช้ในต่างประเทศ ทั้งวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด เพียงแค่ลูกค้าแจ้งความต้องการกับแบงก์เท่านั้น ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์นั้น มีความพร้อมที่จะออกบัตรเดบิตดังกล่าวได้ทันที
  • ธปท. ได้ออกประกาศเพิ่มเติมเรื่องการใช้บริการจากผู้ให้บริการภายนอกด้านงานเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Outsourcing) ในการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน ถึงธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ และบริษัทเงินทุน เนื่องจากต้องการสร้างความปลอดภัย ในการบริการทางการเงินที่ใช้เทคโนโลยีสูง และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริการทางการเงินเพิ่มมากขึ้นในระบบการจัดเก็บและใช้ข้อมูลความลับของลูกค้าสถาบันการเงิน
  • ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า สินเชื่อรับซื้อบัญชีลูกหนี้การค้า (แฟคตอริ่ง) ของธนาคารมีโอกาสเพิ่มขึ้นแตะ15,000 ล้านบาทในปี 2560 หลังจากที่ธนาคารมีการลงพื้นที่เต็มตัวมากขึ้นโดยร่วมกับทางไปรษณีย์ในการเป็นช่องทางรับเอกสารเพื่อขอสินเชื่อดังกล่าวได้สะดวก และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ทั้งนี้ ยอดสินเชื่อแฟคตอริ่งช่วงปีที่ผ่านมา เติบโตสูงถึง 30% คิดเป็นเม็ดเงินสินเชื่อประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยอยู่ในกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มอาหาร กลุ่มเวชภัณฑ์ยา กลุ่มวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มปิโตรเคมี ขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดสินเชื่อแฟคตอริ่งของธนาคารปัจจุบันอยู่ที่ 12% และธนาคารตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 20% ในปี 2561

Retail Business
  • รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยความคืบหน้าโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อ ผู้ประกอบอาชีพ (นาโนไฟแนนซ์) ว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการได้เปิดให้บริการแล้ว 23 ราย มีสาขารวมกันมากกว่า 1,700 สาขา มียอดปล่อยกู้รวมกันกว่า 2,300 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนมีผู้ที่ได้รับสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์แล้ว 1 แสนราย มียอดหนี้ NPLs ราว 20 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของยอดสินเชื่อรวม ทั้งนี้ยังมีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต แล้วรอการเปิดตัวอีก 4 ราย โดยมีรายที่น่าสนใจได้แก่ กลุ่มของซีพี ผ่านบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่เตรียมเปิดตัว แอสเซนด์ นาโน อย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ ซึ่งเชื่อว่าหลังจากที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพเข้ามาเปิดให้บริการในตลาด จะทำให้ยอดการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ทั้งระบบปรับตัวสูงขึ้น จากปัจจุบันที่มียอดปล่อยกู้ 2-3 หมื่นบาทต่อราย และมียอดปล่อยกู้ทั้งระบบรวมกันราว 200 ล้านบาทต่อเดือน

สถาบันการเงินเฉพาะกิจ
  • บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) อนุมัติมาตรการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ถูกกระทบจากภาวะอุทกภัยในภาคใต้ 15 จังหวัด โดยพักชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันเป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับลูกค้าที่ครบกำหนดชำระค่าธรรมเนียมถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2560 จำนวนรวมกว่า 8,000 ราย วงเงินค้ำประกันกว่า 17,000 ล้านบาท  

Securities Business
  • สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า หรือเดือน เม.ย. 2560 อยู่ในระดับร้อนแรง (Bullish) ครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 17.09% เมื่อเทียบเดือนก่อน โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับร้อนแรง ผลจากนักลงทุนคาดว่า ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในไตรมาส 4/2559 จะเติบโตสดใส โดยหมวดที่น่าสนใจลงทุนที่สุดคือ บริการรับเหมาก่อสร้าง ส่วนหมวดธนาคารเป็นหมวดธุรกิที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด เพราะNPLs อยู่ในระดับสูง นักลงทุนกังวลมาก โดยเฉพาะธนาคารขนาดกลางและเล็ก

Asset Management Business
  • บลจ.กรุงไทย ตั้งเป้าในปีนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (เอ็นเอวี) 8.75 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 20% จากปีก่อนที่ทำได้ 7.5 แสนล้านบาท เป็นอันดับ 3 ในอุตสาหกรรม และมากกว่าเป้าหมาย 5% และมากกว่าอุตสาหกรรมรวมที่โต 16.4% โดยปีนี้บริษัทมีแผนออกกองทุนเพิ่ม 10 กองทุน เน้นจับจังหวะการออกกองทุน โดยไตรมาส 1 จะออกกองทุน CLMV และกองทุน China ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ ยังเน้นลงทุนตราสารที่ได้รับการจัดอันดับมากกว่า BBB ขึ้นไป ซึ่งปีนี้ตราสารระยะสั้นยังเหมาะสำหรับการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดยังมีความผันผวน

อื่นๆ
  • คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติปรับเพิ่มราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในเดือนก.พ.อีก 0.67 บาท/กิโลกรัม (กก.) มาที่ 20.96 บาท/กก. หรือปรับขึ้น 10 บาท ต่อถังก๊าซหุงต้มขนาด 15 กก. มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 2560 ตามต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ต่อประเด็นนี้ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเร่งศึกษาต้นทุนราคาอาหารจานด่วน หลังจาก กบง. อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม โดยเบื้องต้นประเมินว่า มีผลกระทบต่อต้นทุนราคาอาหารจานด่วนเพียงจานละ 10 สต.เท่านั้น เพราะก๊าซ 1 ถัง ทำอาหารได้ 200-300 จาน จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ประกอบการร้านค้าจะฉวยโอกาสปรับราคาขายปลีกขึ้นแต่อย่างใด
  • รมว. คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษาการจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตน้ำหวาน เพื่อทำให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีดังกล่าว จะต้องมีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้ปลูกอ้อย โรงงานผลิตน้ำตาล รวมถึงผู้ประกอบการผลิตเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลทั้งหมด โดยล่าสุดได้หารือกับสมาคมผู้ผลิตน้ำตาล ซึ่งเห็นด้วยกับการเก็บภาษีน้ำตาล แต่ขอเวลาปรับตัว 5 ปี แต่กระทรวงการคลังมองว่า นานเกินไป จึงได้สรุปขอเวลาปรับตัว 2 ปี โดยกระทรวงการคลังจะสรุปและเสนอรายละเอียดให้ ครม. เห็นชอบต่อไป
  • กรมการพัฒนาชุมชน เร่งปั้นผู้ประกอบการมืออาชีพ วางเป้าดันยอดขายสินค้าโอทอป 2 แสนล้านบาท ในปี 2562 โดยการเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการสร้างเทรดเดอร์ เพื่อแก้ไขปัญหาการรวบรวมสินค้าตามความต้องการตลาด ซึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้มีห้างสรรพสินค้าต้องการกระเช้าปีใหม่จากวัตถุธรรมชาติ 8 แสนกระเช้า แต่ทำไม่สำเร็จลุล่วง เพราะต้องไปรวบรวมจากหลายแหล่งผลิต คาดว่าหากสามารถพัฒนาขีดความสามารถการผลิต การตลาด และการรวบรวมสินค้าได้ จะช่วยเพิ่มเป้าหมายรายได้ให้ประชาชนระดับฐานราก จากเดิมตั้งไว้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12% เป็นปีละ 18-22% ซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายยอดจำหน่ายปีละ 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2562

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น